การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในไทย โดยจากข้อมูลสาธารณสุขไทยเผยตัวเลขที่น่าห่วงว่าสถิติผู้สูงอายุไทยหกล้มปีละประมาณ 3 ล้านราย และเข้ารักษาตัวเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 ราย โดยสาเหตุหลักเกิดจากการล้มในบ้าน ดังนั้นเมื่อต้องสร้างบ้านหนึ่งหลังจึงควรเลือกแบบและฟังก์ชันที่เอื้ออำนวยกับการอยู่อาศัยอย่างสุขสบายและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุด้วย หรือหากยังไม่มีผู้สูงอายุก็ยังต้องสร้างเผื่อไว้สำหรับการเติบโตของสมาชิกและกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้นำเรื่องต้องรู้ต่างๆ เมื่อสร้างบ้านที่มีผู้สูงอายุมาฝากกันค่ะ
5 เรื่องต้องรู้ เมื่อสร้างบ้านที่มีผู้สูงอายุ
1. ประตูทางเข้าบ้าน
เมื่อก้าวเท้าเข้าบ้านทางผ่านแรกคือ ประตู โดยการออกแบบบ้านทั่วไปส่วนใหญ่จะแบ่งพื้นที่ด้านนอกด้านในด้วยธรณีประตู แต่บ้านผู้สูงอายุต้องใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ และไม่ควรมีธรณีประตูขวางกั้น เพราะถือเป็นเหตุให้เกิดการหกล้มได้ อีกทั้งยังกีดขวางการใช้วีลแชร์สำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย โดยลักษณะที่ของพื้นที่บริเวณประตูที่เหมาะสมคือ
- ประตูควรมีช่องกว้างตั้งแต่ 90 เซนติเมตร ขึ้นไป
- ทางเข้าสำหรับวีลแชร์ต้องมีความลาดชัน และลักษณะทางลาดต้องไม่เกิน 1:12 เช่น พื้นต่างระดับ 1 เมตร ต้องมีทางลาดยาว 12 เมตร
- บริเวณด้านในต้องมีพื้นที่กว้าง รัศมี 1.5 เมตร เพื่อรองรับการหมุนกลับตัวของวีลแชร์
- ควรใช้ประตูเลื่อนเพื่อลดการออกแรงผลัก จนอาจทำให้เสียหลัก หรือไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์
2. กระเบื้องปูพื้น
กระเบื้องปูพื้น ควรเป็นกระเบื้องที่มีความหนืด ไม่ลื่น ไม่เงา หรือเป็นกระเบื้องที่ผิวหยาบ ขรุขระ เพื่อป้องกันการลื่นล้ม รวมไปถึงควรเลือกกระเบื้องสีพื้น ไม่ควรใช้ลวดลายมากเพราะมีผลต่อผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอาจทำให้เวียนหัว หน้ามืด และควรเลือกปูกระเบื้องที่มีสีตัดกับสีกำแพงเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการกะระยะภายในบ้าน
พื้นภายในห้องน้ำสามารถเพิ่มแผ่นกันลื่นซ้อนบนกระเบื้องอีกชั้น ส่วนบริเวณห้องรับแขกหากมีพรม ต้องระวังการสะดุดล้มเพราะอาจทำให้เท้าเกี่ยว หรือสะดุดล้มก่อให้เกิดอันตรายได้
3. ห้องน้ำ
ห้องน้ำนับเป็นจุดอันตรายที่ต้องระวังมากที่สุดสำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุ โดยจากจุดทางเข้าไปถึงโถสุขภัณฑ์ควรมีราวจับขนาดพอดีมือ มีลักษณะกลม ไม่คม และมีความสูงจากพื้นประมาณ 80 - 90 เซนติเมตร เพื่อช่วยพยุงตัวกันล้ม แต่บริเวณโถสุขภัณฑ์จะมีระยะราวจับจากพื้นต่างจากราวปกติอยู่ที่ 45 เซนติเมตร เพราะเป็นการเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน เพื่อช่วยพยุงตัว และต้องหมั่นตรวจจุดยึดราวให้แข็งแรงพร้อมต่อการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อความปลอดภัยและการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ควรติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ (Emergency Call Bell) และเชื่อมต่อไปยังกริ่งเตือนที่ติดตั้งไว้ทุกจุดของบ้าน
4. การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก
การสร้างบ้านที่มีผู้สูงอายุ นักออกแบบบ้านจะวางห้องนอนผู้สูงอายุไว้ชั้นล่าง เพื่อลดอุบัติเหตุจากการขึ้นลงบันได แต่หากไม่สะดวกที่จะมีห้องนอนไว้ชั้นล่างแล้ว นอกจากการติดตั้งราวจับเพื่ออำนวยการขึ้นลงแล้ว (ระยะปลอดภัยของบันได ลูกนอนควรกว้าง 30 เซนติเมตร ลูกตั้งไม่ควรเกิด 15 เซนติเมตร) ควรให้ความสำคัญกับการติดตั้งแสงสว่างหรือเซนเซอร์บริเวณบันไดขึ้นลงเพื่อให้เห็นทางอย่างสะดวก รวมไปถึงสวิตช์ไฟควรติดตั้งให้อยู่ในระดับอกเพื่อเหมาะสมต่อการใช้งาน
ส่วนแสงสว่างในห้องนอน เนื่องจากผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำบ่อย นอกจากไฟเซนเซอร์แล้ว การใช้แผ่นเรืองแสงตามจุดหรือมุมที่ใช้งานบ่อยๆ ก็จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้
โต๊ะสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ เหมาะสำหรับบ้านที่สร้างใหม่มาก ๆ เพราะบริษัทรับสร้างบ้านจะสามารถออกแบบ Build-In เฟอร์นิเจอร์ได้ในระยะที่แม่นยำเหมาะสมกับผู้ใช้งาน โดยมีระยะที่เหมาะสมคือ ความสูงของโต๊ะสำหรับการใช้งานของผู้ใช้รถเข็นนั้น ต้องลดระดับลงมาจากความสูงของโต๊ะปกติเล็กน้อย หน้าโต๊ะขนาดสากลควรสูงประมาณ 75 เซนติเมตร (หากปรับระดับส่วนสูงคนไทย ประมาณ 72 เซนติเมตร)
ส่วนพื้นที่ใต้โต๊ะควรมีความสูงไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ไม่ควรมีลิ้นชัก และมีความลึกมากกว่า 40 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข็นรถเข้าไปใช้งานได้สะดวกนั่นเอง ส่วนเก้าอี้ต้องมีบริเวณที่นั่งไม่สั้นหรือยาวเกินไป เพราะหากสั้นไปเท้าจะหมิ่น และจะต้องใช้เท้าเขย่งเพื่อพยุง จึงควรหากหาเก้าอี้เล็กๆ เพื่อหนุนให้วางเท้าตั้งฉากได้ และลดการบาดเจ็บ
สิ่งสำคัญที่เราควรให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุในบ้านนั้น เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีคุณค่า เป็นวัยที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ รวมไปถึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับลูกหลานในบ้าน ดังนั้นในฐานะของลูกหลานเองจึงควรอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุในบ้านเราได้รับความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจด้วย
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท โฮม ดีเวลอป จำกัด
2/29-30 ม.12 อาคารทศพรเเลนด์ 4 ชั้น 7 ถ.บางนา-ตราด กม.3 เขตบางนา เเขวงบางนา กรุงเทพฯ 10260
โทรศัพท์ : 0-2769-5636-8
เว็บไซต์ : www.home-develop.com