บ้านสร้างใหม่มองไปทางไหนก็สวยไปหมด แต่เมื่ออยู่ไปนานๆ ผ่านการใช้งานมากขึ้น อาการเสื่อมโทรมย่อมมีให้เห็นตามมา หากเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หรือสีซีดสีร่อนยังทาสีใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นอาการร้าวตามจุดต่างๆ และนับวันยิ่งเห็นชัด และบางรอยร้าวยังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ อาจจะแก้ปัญหาเองไม่ได้ เพราะรอยร้าวเหล่านั้นคือสัญญาณว่าบ้านกำลังมีปัญหา
ดังนั้นหากพบเห็นรอยร้าวอย่านิ่งนอนใจ วันนี้เราจะพาคุณไปจับผิด 5 ลักษณะร้อยร้าวที่เข้าข่ายเป็นอันตรายกับบ้าน เพื่อหาทางรับมือ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทรับสร้างบ้าน ในการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที
5 ลักษณะรอยร้าวสัญญาณเตือนบ้านมีปัญหา
1. รอยร้าวแนวดิ่ง ที่ปรากฏบนผนัง
รอยร้าวลักษณะนี้ มักปรากฏให้เห็นบริเวณกลางผนัง โดยเกิดเป็นแนวตรงจากเพดานถึงพื้น หรือจากพื้นถึงเพดาน รอยร้าวแบบนี้เกิดจากการมีของที่น้ำหนักมากมากดทับพื้นข้างบน จนพื้นเกิดการแอ่นตัวเป็นรูปตัวยู (U) ทำให้คานที่อยู่เหนือผนังและพื้นนั้น ไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้ จึงเกิดเป็นรอยร้าวที่ผนังขึ้นมานั่นเอง
หากรอยร้าวที่เกิดมีความยาวเกินครึ่งหนึ่งของความสูงของผนัง เช่น ผนังสูง 2.5 เมตร รอยร้าวยาว 1.3 เมตร ให้รีบเคลื่อนย้ายของที่มีน้ำหนักมากออกจากบริเวณนั้นทันที
2. รอยร้าวกลางคาน
รอยร้าวกลางคานเกิดจากการที่คานรับน้ำหนักมากกว่าปกติ คานเกิดการแอ่นตัวลง ทำให้คอนกรีตเกิดการปริแตกออกเป็นรอยลักษณะเหมือนตัวยู (U) ล้อมคาน นอกจากนี้ ยังมีอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยร้าวกลางคาน คือ พื้นที่ข้างบนมีน้ำรั่วซึม ทำให้เหล็กในคานเกิดสนิม และดันคอนกรีต คาน จนแตกร้าว ซึ่งจะทำให้คานเหล็กเกิดการเสื่อมประสิทธิภาพในการใช้งานได้อีกด้วย
การแก้ไขเบื้องต้นให้ลองสำรวจสิ่งของที่อยู่เหนือบริเวณคาน หากมีสิ่งของที่มีน้ำหนักมากวางกดทับคานอยู่ ให้รีบเคลื่อนย้ายออกไปทันที แล้วใช้เหล็กค้ำยันเพื่อช่วยแบ่งเบาน้ำหนัก จากนั้นให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบเพื่อเสริมคาน หากไม่มีสิ่งของหนักบนคาน ให้ลองสำรวจดูว่ามีการรั่วซึมของน้ำหรือไม่ หากพบเจอให้รีบแก้ไขรอยรั่วทันที
3. รอยร้าวแนวเฉียงที่เกิดกลางผนัง
รอยร้าวลักษณะนี้จะปรากฏให้เห็นกลางผนัง สาเหตุเกิดจากเสาต้นใดต้นหนึ่งของบ้านเกิดการทรุดตัว เช่น ในห้องหนึ่งมีเสา 4 ต้น แต่มีเสาต้นที่ 2 ทรุดตัวลง คานที่เชื่อมเสาแต่ละต้นจึงไม่สามารถพยุงเสาให้อยู่ในระนาบเดียวกันได้อีกต่อไป ส่งผลให้ผนังด้านที่อยู่ติดเสาต้นนั้นเกิดรอยแตกร้าวขึ้น
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เสาทรุดตัวส่วนมากมักเกิดจากการต่อเติมบ้านผิดหลักวิศวกรรม ทำให้เสาต้นเดิมไม่สามารถรับน้ำหนักได้ หรือฐานรากของอาคารเกิดการทรุดตัวไม่เท่ากัน ทำให้เสาเข็มเคลื่อนที่ออกจากจุดเดิม ขาดความต่อเนื่องกัน
การแก้ไขเบื้องต้นให้เฝ้าระวังรอยร้าวนี้ โดยวัดความกว้างและความยาวของรอยร้าวแล้วจดบันทึกเอาไว้ หากรอยร้าวไม่ลามต่อก็ยังไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่หากรอยร้าวยังมีความกว้างและยาวลามต่อไปอย่างรวดเร็ว ต้องรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง หรือบริษัทรับสร้างบ้านโดยด่วน เพื่อเร่งแก้ไขก่อนเพราะหากทิ้งไว้มีโอกาสเสี่ยงบ้านถล่มได้เลยทีเดียว
4. รอยร้าวกลางเพดาน
รอยร้าวลักษณะนี้จะปรากฏเป็นรอยกากบาทเข้าหาเสาทั้ง 4 มุม ถือเป็นรอยร้าวที่อันตรายที่สุด เพราะเกิดจากพื้นชั้นบนรับน้ำหนักมากเกินไปจนเกินขีดความสามารถ จึงเกิดรอยร้าวเพื่อเป็นสัญญาณเตือนภัย หากปล่อยปละละเลยเอาไว้พื้นอาจถล่มลงมาทั้งแผงได้
การแก้ไขเบื้องต้นควรย้ายของที่อยู่ชั้นบนออกก่อน ถ้ารอยร้าวนั้นยังมีการลุกลามอยู่ให้หยุดใช้พื้นที่ชั้นบนและชั้นล่างจนกว่าจะมีการตรวจสอบโครงสร้างทั้งหมด เพื่อวางแผนแก้ไขโครงสร้าง โดยอาจต้องเสริมโครงสร้างเสาและคาน หรือเปลี่ยนโครงสร้างพื้นใหม่
5. รอยร้าวบนเสา
รอยร้าวบนเสาเป็นรอยร้าวที่ต้องระวังที่สุด เพราะแสดงถึงปัญหาเสารับน้ำหนักได้ไม่ดีพอ หรือรับน้ำหนักมากเกินไป รอยร้าวที่เสามีหลายลักษณะ และมีระดับความอันตรายแตกต่างกัน
• รอยร้าวแตกลึกที่เสา เกิดได้จากเสามีการรับน้ำหนักมากเกินไป หรือมีการใช้อาคารผิดประเภททำให้เสาต้องรับน้ำหนักมากกว่าที่วิศวกรคำนวณไว้ในตอนแรก จึงทำให้โครงสร้างของ
อาคารในแต่ละส่วนแยกออกจากกัน เสาและคานไม่เชื่อมกัน
• รอยร้าวแบบข้อปล้อง คือรอยร้าวเป็นชั้นๆ แนวนอน เกิดจากการทรุดตัวของฐานราก อาจจะน้อยกว่าหรือไม่เท่ากันกับเสาต้นอื่นๆ เสาจึงเกิดการแอ่นตัวและเกิดรอยร้าวขึ้น รอยร้าวชนิดนี้แสดงถึงความไม่มั่นคงของเสาและฐานราก เป็นอีกหนึ่งรอยร้าวที่อาจจะทำให้บ้านถล่มได้
• รอยร้าวแนวเฉียง 45 องศา เป็นรอยร้าวของเสาที่ถือว่าอันตรายที่สุด เพราะเกิดจากโครงสร้างของอาคารรับน้ำหนักไม่ไหว และกำลังจะฉีกแยกออกจากกัน จึงเกิดเป็นรอยร้าวแนวนอนบริเวณต้นเสาและโคนเสา
การแก้ปัญหารอยร้าวที่เสา ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เมื่อพบเห็นต้องรีบปรึกษาวิศกรโครงสร้างอย่างเร่งด่วน เพื่อหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที
วิธีการแก้ไขรอยร้าว
เมื่อพบเห็นรอยร้าวอันตรายตามลักษณะอาการข้างต้น สิ่งที่เจ้าของบ้านควรทำคือ
1. สำรวจรอยร้าวและตำแหน่งที่เกิดรอยร้าวอย่างละเอียด รวมถึงพื้นที่ในรัศมีใกล้เคียงว่ามีปัญหาด้วยหรือไม่
2. เคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมากออกจากบริเวณนั้น และทำสัญลักษณ์ที่รอยร้าวไว้
3. คอยสังเกตรอยร้าว หากไม่มีการลุกลามเพิ่มเติมก็ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่หากรอยร้าวยังคงเดินหน้าต่อไปและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ให้เตรียมรับมือแก้ไขปัญหา
4. ปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง หรือ บริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพ เพื่อหาทางแก้ไข
เพื่อให้บ้านแข็งแรงปลอดภัย ปราศจากรอยร้าวอันตรายกวนใจ ก่อนลงมือสร้างบ้านเจ้าของบ้านควรเริ่มต้นที่การเลือกทีมผู้สร้างที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ มีประสบการณ์สูงในการสร้างบ้าน หรือต่อเติมบ้าน พร้อมมีประกันการก่อสร้างโดยเลือกใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน ที่มีทั้งผู้เชี่ยวชาญและบริการครบจบในที่เดียว เพื่อขจัดต้นเหตุปัญหาทั้งปวงอันจะนำเรื่องน่าปวดหัวมาให้กับบ้านแสนรักของเราในภายหลัง
สนับสนุนบทความโดย
บริษัท ไวส์ บิวเดอร์ จำกัด
ที่อยู่ : เลขที่ 99/33 ซ.แจ้งวัฒนะ13 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์ : 0 2574 5616
อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.wisebuilder.co.th