สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) แนะ 3 เทคนิค ‘ปกป้อง-ดูแล-ซ่อมบ้าน’ ในสถานการณ์น้ำท่วม เปิดโหมดเตรียมตัวล่วงหน้า เน้นความปลอดภัยเมื่อเผชิญน้ำท่วม พร้อมแนวทางปรับปรุงสู่ ‘บ้านน่าอยู่’ หลังน้ำลด
นายวรวุฒิ กาญจนกูล กรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมไม่ได้เกิดจากฝนที่ตกหนักในช่วงมรสุมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โครงสร้างพื้นฐานของเมืองออกแบบมารองรับน้ำที่ตกลงมาปริมาณมากได้อย่างจำกัด ขณะที่เส้นทางการระบายน้ำออกจากพื้นที่ต้องใช้เวลามากกว่า 1-2 วัน ส่งผลกระทบพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่การค้าและบริการอย่างเช่นโรงแรม โรงพยาบาล ไปจนถึงบ้านของประชาชน
ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำในภาพใหญ่ระดับจังหวัดอาจเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะควบคุม แต่สิ่งที่แต่ละบ้านสามารถทำได้ คือ เตรียมความพร้อม เกาะติดสถานการณ์ความเคลื่อนไหว และแจ้งเตือนจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงวางแผนรับมือเพื่อดูแลบ้านของตัวเองจากน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด โดยวิธีการมีหลายระดับ ตั้งแต่การเตรียมพร้อมก่อนน้ำท่วม จนถึงการป้องกันในระหว่าง และแนวทางการฟื้นฟูบ้านหลังน้ำท่วม
เตรียมพร้อม ‘ก่อนน้ำท่วม’
นายวรวุฒิ กล่าวว่า แต่ละบ้านควรตรวจสอบระบบระบายน้ำเพื่อให้แน่ใจว่ารางน้ำ ฝาท่อระบายน้ำ บ่อพักน้ำ และท่อระบายน้ำรอบบ้านอยู่ในสภาพดี ไม่มีสิ่งอุดตัน และหมั่นทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงก่อนฤดูฝน
การยกของสำคัญขึ้นที่สูงมีความสำคัญ โดยทำการเคลื่อนย้ายของใช้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเอกสารสำคัญขึ้นไปไว้บนที่สูง เพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม
นอกจากนี้ ให้เตรียมถุงทรายไว้ล่วงหน้าสำหรับใช้กั้นเป็นกำแพงเมื่อน้ำมาถึง จากนั้นติดตั้งวาล์วกันน้ำย้อนกลับในท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมย้อนกลับเข้ามาในบ้าน และหาวิธีอุดท่อน้ำต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำย้อนเช่นกัน โดยในบางพื้นที่อาจต้องตัดสินใจยกพื้นบ้านให้สูงขึ้น ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี วิธีนี้จะทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าบ้านจะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
สำหรับแนวทางที่แต่ละบ้านสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้ มีทั้งการทำประกันภัยบ้านและทรัพย์สิน เพื่อลดความเสียหายทางการเงินหากเกิดน้ำท่วม การติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำท่วม เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับระดับน้ำ หรือ สมัครรับข่าวสารเตือนภัยจากทางการ และการเตรียมแผนอพยพหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน รู้เส้นทางหนีภัย และจุดรวม พร้อมทั้งตรวจสอบโครงสร้างบ้าน รอยร้าว หรือจุดที่อาจมีน้ำรั่วซึม เมื่อพบทำการซ่อมแซมให้เรียบร้อย
‘ระหว่างน้ำท่วม’ ยึดความปลอดภัยมาก่อน
เมื่อน้ำท่วมเข้าบ้าน นายวรวุฒิ ย้ำว่า ควรปิดระบบไฟฟ้าและแก๊สในทันที เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าช็อตและไฟไหม้ พร้อมกันนี้ให้หลีกเลี่ยงเข้าไปบริเวณที่มีน้ำท่วมขังโดยเฉพาะในเวลากลางคืนเพราะอาจมีสิ่งปนเปื้อน กระแสไฟฟ้ารั่ว สัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษหรืออันตรายอื่นๆ จากนั้นติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานบรรเทาสาธารณะภัย เพื่อขอความช่วยเหลือ
เทคนิคกู้บ้านพัง ‘หลังน้ำท่วม’
สำหรับบ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เมื่อน้ำลดลงแล้ว นายวรวุฒิ กล่าวว่า ควรรีบตรวจสอบความเสียหายของบ้านและทรัพย์สินอย่างละเอียด จากนั้นทำความสะอาดบ้านพร้อมฆ่าเชื้อโรคในบ้านอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง
ทั้งนี้ ก่อนลงมือซ่อมแซมควรให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบบ้าน ระบบไฟฟ้าและแก๊สให้เรียบร้อยก่อนเริ่มกลับมาใช้งานตามปกติ โดยงานซ่อมแซมนั้นขึ้นอยู่กับความเสียหายของแต่ละบ้าน เช่น ในกรณีที่น้ำท่วมถึงเพดานให้ตรวจสอบความเสียหาย ถ้าฝ้าเปื่อยและอมน้ำควรรื้อออกแล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่
การซ่อมแซมบานประตูไม้ที่บวมและผุพังจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน ควรทิ้งไว้ให้แห้งก่อนลงมือซ่อมแซม แต่หากพบว่ามีความเสียหายมากจนใช้การไม่ได้อาจต้องเปลี่ยนใหม่ ในส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับความเสียหายให้ไล่ความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุด จากนั้นปล่อยให้แห้งสนิทค่อยนำกลับมาใช้งาน ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ติดตั้ง Built in มีความจำเป็นต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างและสายไฟ หากพบว่าผุพังให้ทำการรื้อออกแล้วทำขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ ภายหลังจากทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้านแล้ว ควรปล่อยให้บ้านแห้งสนิทอย่างน้อย 1 เดือนก่อนทาสีใหม่ รวมทั้งการตรวจเช็กท่อและบ่อพักว่ามีขยะติดอยู่หลังจากน้ำท่วมหรือไม่ โดยให้ทำการตรวจสอบและซ่อมแซมให้เรียบร้อย
“การป้องกันน้ำท่วมบ้านเป็นกระบวนการที่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจะช่วยลดความเสียหาย และเพิ่มความปลอดภัย เพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สวยงามและน่าอยู่เหมือนเดิม”