ดูเหมือนว่าตัวเลขในความต้องการสร้างบ้านเองบนที่ดินของตนเอง จากศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ออกมาเป็นตัวเลขที่น่าสนใจมากครับ พบว่ามีมากถึง 2 หมื่นหน่วยเลยทีเดียว ล่าสุดทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านเล็งเห็นโอกาสพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการจัดงานใหญ่ตั้งแต่ต้นปี กับงาน “รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus2024” ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2567 ยังไม่ชัดเจนต้องอาศัยมาตรการจูงใจจากรัฐบาลกระตุ้น
ด้าน นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เผยว่าตลาดรับสร้างบ้านปีนี้ ยังอยู่ในภาวะทรงตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการกระตุ้นธุรกิจที่ 8 องค์กรอสังหาฯ ผลักดัน จะเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ช่วยให้ผู้บริโภคได้สิทธิ์เข้าถึงที่อยู่อาศัยและรัฐมีรายได้มากขึ้น โดยประเมินว่าขณะนี้ถึงเวลาจัดงานกิจกรรมรับสร้างบ้าน ซึ่งเป็นแผนของสมาคมฯ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยแต่ละปีจัด 2 ครั้ง ช่วงต้นปี และกลางปี เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้โคจรมาพบกัน
โดยปีนี้จัดงานค่อนข้างใหญ่ ร่วมกับบริษัท ยูเนี่ยน แพน เอ็กซิบิชั่นส์ จำกัด ฐานะผู้ดำเนินธุรกิจทางด้านการจัดงานแสดงสินค้า รวมถึงพันธมิตรเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้าน บนพื้นที่ 5 หมื่นตารางเมตร ภายใต้ชื่องาน “รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus2024” ระหว่างวันที่ 17-25กุมภาพันธ์ ณ อิมแพ็คฮอลล์ 8 เมืองทองธานี ซึ่งมีครบจบในที่เดียว และมีแคมเปญลด-แลก-แจก-แถมเพื่อให้ผู้บริโภค ได้ตัดสินใจ
นอกจากยังมองว่าตลาดรับสร้างบ้านไม่ได้เติบโตเหมือนกับอสังหาฯกลุ่มอื่น แต่ตัวเลขข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเก็บรวบรวมมีแค่ 2 หมื่นหน่วยต่อปี ขณะราคาค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นับวันจะเข้าถึงยาก แต่ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภครอคอยคือมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีสร้างบ้านบนที่ดินตนเอง กับบริษัทที่จดทะเบียน โดยสมาคมฯต้องการผลักดันเพื่อผู้บริโภค ในระยะยาวอย่างแท้จริง
โดยสมาคมได้เสนอแยกการสนับสนุน จากรัฐบาลเป็น 2 เรื่องคือ 1. สร้างบ้านบนที่ดินกับบริษัทที่จดทะเบียน ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล้านละ 1 หมื่นบาท สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท และ 2. สร้างบ้านบนที่ดินตนเองหลังแรกให้ รวมอยู่ในโครงการบ้านหลังแรกและได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนอง รวมถึงรัฐให้การช่วยเหลือทางด้านการเงินสูงสุด 1แสนบาท
พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะทำงานโดยมี ผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีที่ดูแลทางด้านเศรษฐกิจและกฎหมายมาร่วมพิจารณากับภาคเอกชนซึ่งมองว่าจาก 8 ข้อ น่าจะได้รับสนับสนุน 6 ข้อ โดยข้อที่อาจไม่ได้คือการถือครองที่ดินของต่างชาติ รูปแบบการเช่า จาก 30 ปี เป็น 50 ปี โดยอาจเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะได้หรือไม่ แต่เรื่องที่ไม่น่าจะได้รับการพิจารณา คือเกณฑ์ LTV รวมถึงเรื่องของการลดขนาดพื้นที่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งค่อนข้างยากเพราะเกี่ยวเนื่องทั้งกระทรวงมหาดไทย และกฎหมายหลายกระทรวง ในมุมกลับกันมาตรการของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านน่าจะผลักดันได้ง่ายที่สุดเพราะเกี่ยวกับประชาชนรากหญ้าในต่างจังหวัด ที่ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านสร้างเอง และดึงเข้ามาสู่ระบบ
ที่มา https://www.condotiddoi.com/readarticle.php?articleid=9831